เหตุผลที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก
มุมมองการมีลูกของคนไทยในยุคปัจจุบัน โดย แม่สื่อ บริษัทจัดหาคู่ ระดับไฮเอนด์ Bangkok Matching
คนโสดหรือกระทั่งคนแต่งงานแล้วจำนวนมากคงเคยคิด และคงเคยถูกถามว่า ไม่มีลูกเหรอ จะมีลูกไหม ทำให้บางคนต้องมาขบคิดว่า เราควรมีลูกไหม การมีลูกดีไหม เราควรมีลูก หรือไม่มีลูกดีนะ แล้วการมีลูกเป็นตัวบ่งชี้ว่าครอบครัวสมบูรณ์แบบจริงไหม ? แล้วคนไทยยุคใหม่ส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูกจริงหรือเปล่า ?
เรียกได้ว่าเรื่อง “การมีลูก” เป็นประเด็นที่หยิบขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เสียงแตกเป็นสองฝ่ายทุกทีนะคะสำหรับประเด็นของการมีลูก หรือไม่มีลูกในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีชาวเน็ตได้ให้ความเห็นผ่านสื่อโซเชียลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมากว่า การมีลูกนั้นเป็นเรื่องใหญ่ทั้งต่อตัวเองและต่อตัวเด็ก ถ้ามีแล้วดูแลไม่ดี ยอมไม่มีเลยจะดีซะกว่า ในขณะที่บางกลุ่มมีความเชื่อว่าการมีลูกนั้นเป็นเครื่องหมายของคำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ เป็นตัวแทนความรักของคนเป็นพ่อและแม่ เป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์มีเป้าหมาย รวมถึงการมีลูกยังได้มีเพื่อน และที่พึ่ง (ได้บ้าง) ยามชรา
เมื่อความเห็นแตกกันเป็น 2 ฝั่งแบบนี้ แม่สื่อ บริษัทจัดหาคู่ระดับไฮเอนด์ Bangkok Matching ก็ได้ลงไปทำการสำรวจประเด็นนี้บนโลกออนไลน์ ผ่านกระทู้เว็บไซต์ไลฟ์สไตล์ที่มีคนเข้ามาตั้งคำถามชวนถกกันว่า “การมีลูก ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอย่างไร” แน่นอนว่าเสียงที่เข้ามาตอบนั้นมีความแตกต่างกันไป แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยค่ะ โดยคนที่เข้ามาตอบกระทู้ก็มีทั้งความเห็นที่เป็นด้านบวกและเป็นด้านลบ คนที่เห็นว่า “การมีลูก” ช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้ครอบครัวจะรู้สึกว่าพอมีลูกแล้วจะมีจุดหมายมากขึ้น รู้ว่าเป้าหมายการทำงานเราทำไปเพื่อใคร จากชีวิตที่ใช้เงินไปวัน ๆ ไม่เก็บออมอะไร ก็ต้องมีระเบียบมากขึ้นเพราะต้องการเลี้ยงลูกให้ดีเพื่อหวังว่าลูกจะดูแลเราในยามแก่เฒ่าด้วย
ส่วนฝ่ายที่มีความเห็นต่าง ได้ให้ความเห็นไว้ว่าการมีลูกเป็นอะไรที่เหนื่อยกายและใจ ต้องใช้พลังงาน และพลังเงินสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยงจนโตขึ้นมาแล้วลูกกลายเป็นคนไม่ดี หรือไม่ใช่คนที่เราคาดหวังก็ทำให้ผิดหวัง ถ้าดูแลไม่ดีพอก็จะเป็นปัญหาสังคมได้ ทำให้ไม่อยากมีลูกนั่นเองค่ะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นเพียง Opinion ของคนในโลกออนไลน์เท่านั้นนะคะ ไม่มีผิดถูกหรือนำมาใช้อ้างอิงใด ๆ ได้ เพียงแต่แม่สื่อหยิบยกมานำเสนอให้ทุกคนได้เห็นว่าประเด็นเรื่อง “ควรมีลูกดี หรือไม่มีลูกดี” นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต่างคนก็ต่างความคิดค่ะ
และสำหรับข้อยืนยันที่ชัดเจน มีการสำรวจจริงจัง แม่สื่อ บริษัทจัดหาคู่เดท ระดับไฮเอนด์ Bangkok Matching ขอนำเอาผลสำรวจค่านิยมของคนสมัยใหม่จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นิด้าโพล ที่ทำการสำรวจในหัวข้อเรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า” โดยได้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของคนในปีพ ศ 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับประเด็นถกเถียงสุดฮ็อตว่า “มีลูกหรือไม่มี ดีกว่ากัน?” ซึ่งทางแม่สื่อก็ได้เอาผลสำรวจมาสรุปให้ทุกคนได้เข้าใจกันง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
ในด้านประชากรคนโสดไทยและคนแต่งงาน นิด้าโพลได้แบ่งจำนวนให้เห็นว่า คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มคนโสด นั่นเองค่ะ
- กลุ่มคนโสด ไม่มีแฟนไม่มีลูก ครองพื้นที่ของประชากรอยู่ 29.39%
- รองลงมาคือกลุ่มคนที่จดทะเบียนสมรส แต่งงาน มีลูกแล้ว 26.57%
- กลุ่มคนที่มีแฟนแล้วแต่ยังไม่ได้แต่งงาน 20.92%
- กลุ่มคนที่แต่งงานแบบไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีลูกแล้ว 10.99%
- กลุ่มคนที่แต่งงานจดทะเบียนสมรส แต่ไม่มีลูก 4.58%
- อื่น ๆ รวม 6.48%
ทำให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรามีจำนวนประชากรที่รวมอยู่ในกลุ่ม “คนโสดและคนไม่มีลูก” มากกว่ากลุ่มคนที่มีลูกอยู่ราว ๆ 28% เลยทีเดียวค่ะ
สอดรับกับค่านิยมของคนโสดไม่มีลูกจำนวน 44% จากประชากรจำนวน 759 คน ที่นิด้าโพลเขาได้สำรวจมาว่า คนกลุ่มนี้มีความเห็นว่าการว่าเป็นโสด ไม่มีลูก ยังดีกว่ามีลูกแบบไม่พร้อมค่ะ และกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ก็ได้ให้ความคิดเห็นมาเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า “ทำไมคนไทยรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูก”
โดยสาเหตุสำคัญที่คนไทยรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูกก็มาจาก
- 38.32% ไม่อยากมีค่าใช้จ่ายให้เสียเงินเพิ่ม เพราะการมีลูกนั้นหมายถึงการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
- 38.32% กังวลว่าลูกจะโตมาอย่างไรในสภาพสังคมในปัจจุบัน
- 37.72% ไม่อยากมีภาระในการคอยดูแลเลี้ยงดูลูก
- 33.32% ต้องการชีวิตอิสระ
- 17.66% กลัวว่าตัวเองจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี
- 13.77% อยากให้ความสำคัญกับเรื่องงานมากกว่า
- 5.39% มีปัญหาสุขภาพของตนเองหรือคู่ครอง
- 2.10% กลัวว่าคนที่มาเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ไม่ดี และส่งผลให้ลูกเกิดมาไม่ดีไปด้วย
- 0.90% กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อแม่
โดยบริษัทจัดหาคู่ Bangkok Matching สรุปได้ว่า ค่านิยมของคนไทยปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนไปมากจากเมื่อก่อนที่คนเรามักมีความเชื่อว่า “ลูก” นั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัวคนไทย เมื่อมีแฟน แต่งงานแล้ว สิ่งถัดไปที่จำเป็นก็คือการมีลูก สมัยก่อนถ้าหากว่าแต่งกันไปแล้วเกิดปัญหาที่ทำให้ฝ่ายหญิงมีลูกไม่ได้ มีลูกยาก ในบางครอบครัวที่ซีเรียสว่าฝ่ายหญิงจะต้องมีทายาทสืบสกุลให้ได้ อาจจะเกิดปัญหาจนทำให้ครอบครัวร้าวฉาน ก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว โดยเฉพาะครอบครัวฝั่งเอเชียที่ให้ความสำคัญกับการมีลูก เพราะมีความเชื่อในเรื่องของการที่ลูกจะต้องตอบแทนบุญคุณ กลับมาเลี้ยงดูยามที่เราแก่เฒ่า
เพราะอะไร ทำไมค่านิยมการมีลูกของคนไทยถึงเปลี่ยนไป
เพราะค่านิยมมันเป็นความนิยมของสังคมในยุคสมัยนั้น ๆ ปรับได้เปลี่ยนได้อยู่เสมอค่ะ ยุคก่อนการมีลูกอาจเป็นเรื่องจำเป็น ใครแต่งงานแล้วไม่มีลูก อาจมีข้อครหาให้เข้าหูอยู่บ่อย ๆ แต่พอมาในอีกยุคหนึ่ง การไม่มีลูกกลับกลายเป็นอิสระของชีวิตคู่เสียอย่างนั้น นี่แหละค่ะ การเปลี่ยนของค่านิยมตามกระแสสังคมขณะนั้น ๆ
ซึ่งแม่สื่อ บริษัทจัดหาคู่ Bangkok Matching ได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลและความเปลี่ยนแปลงของสังคมมองว่า การที่ค่านิยมเก่าถูกเปลี่ยนไป เป็นเพราะว่าคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ในไทยนั้น เป็นวัยที่กล้าตั้งคำถาม และถกเถียงถึงรากลึกของปัญหากันอย่างตรงไปตรงมา ต่างกับยุค Baby Boomer ที่คนในยุคนั้นจะต้องปฏิบัติตัวตามขนบธรรมเนียมกันอย่างเคร่งครัด ถ้าใครทำผิดกรอบสังคมนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
ทำให้เรื่องของการมีลูกเพื่อให้ลูกมาทดแทนบุญคุณ หรือการมีลูกเพื่อให้ลูกเป็นสัญลักษณ์ความสมบูรณ์ของครอบครัวนั้น กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ค่อยอินอีกแล้ว กลายเป็นว่าในปัจจุบัน คนเราจะให้ความสำคัญกับ “ความพร้อม” ทางกาย ใจ และเงิน ของคนที่จะกลายเป็นพ่อและแม่เสียมากกว่า โดยความพร้อมที่ว่านั้นไม่ใช่แค่ด้านสภาพร่างกายนะคะ แต่การจะเป็นพ่อแม่คนได้ คนยุคนี้ให้ความสำคัญในความพร้อมด้านการเงิน การงาน เวลาในการเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงดูจนกว่าลูกจะบรรลุนิติภาวะ หาเลี้ยงตัวเองได้ และความสามารถในการเลี้ยงดูของพ่อแม่เอง ว่าจะสามารถกล่อมเกลาฟูมฟักลูกของตัวเองให้อยู่ในสังคม เศรษฐกิจทั้งของไทย และของโลกปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคตได้อย่างเข้มแข็งหรือไม่
อย่างที่นิด้าโพลทำการสำรวจมานั่นแหละค่ะ ว่าที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูกก็เพราะว่าค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่อยากมีลูกแล้ว ทำให้ลูกต้องลำบาก สู้ชีวิต เหมือนกับตัวเองตอนเป็นเด็ก ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พบบ่อยเช่นกันค่ะ
ถ้าคนไทยยุคใหม่มีลูกน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบอย่างไร ?
แน่นอนค่ะว่าการที่อัตราการเกิดใหม่น้อยลง สังคมของเราย่อมก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” หมายถึงการที่เรามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มากกว่าอัตราการเกิดใหม่ของเด็กที่จะเข้ามาเป็นกำลังคนขับเคลื่อนประเทศไทยรุ่นต่อไป โดยสถิติจำนวนประชากรไทยประจำปีจากกรมการปกครอง ได้เผยตัวเลขจำนวนประชากรไทยชาย-หญิงที่มีสัญชาติไทยระหว่างปี พ.ศ.2564 ถึงปี พ.ศ.2566 เอาไว้ดังนี้ค่ะ
- จำนวนประชากรไทยปี 2564: 65,197,783 คน
- จำนวนประชากรไทยปี 2565: 65,106,481 คน
- จำนวนประชากรไทยปี 2566: 65,061,190 คน
จะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรของไทยเราแทนที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนที่เคยเป็นในอดีต ตัวเลขกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้ ที่คนตระหนักในเรื่องของการมีลูกและกังวลภาระจากการมีลูกกันมากกขึ้น ทำให้ปี พ.ศ 2566 มีจำนวนประชากรไทยน้อยกว่า ปี พ.ศ 2564 อยู่ถึง 2.09% ซึ่งถึงแม้จะดูว่าเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ส่งผลมากกับโครงสร้างสังคมไทยเลยนะคะ จนทำให้ทั้งภาครัฐต้องออกมารณรงค์ให้คนไทยรุ่นใหม่มีลูกกันเยอะ ๆ ผ่านแคมเปญมากมาย
จริงๆ แล้วสาวโสดยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้คิดจะมีคู่ หรือยังไม่ได้พบคู่ แต่ต้องการมีลูกของตนเอง ด้วยสเปิร์มบริจาค แต่ติดขัดว่าผิดกฏหมายในปัจจุบัน ทำให้ดับฝันสาวโสดที่อยากมีลูกคนเดียว ไม่เช่นนั้น หากกฏหมายไทยยอมรับให้สาวโสดไทยมีลูกเองได้จากสเปริ์มบริจาค เพื่อให้เธอได้เลือกสรรพ่อพันธ์ชั้นดีที่เธอต้องการแล้วล่ะก็ จะช่วยแก้ปัญหาจำนวนประชากรไทยลดลงได้ส่วนหนึ่งเลยค่ะ
ถ้าอยากมีลูกในยุคนี้ ควรเตรียมตัววางแผนการมีลูกอย่างไร
จากประสบการณ์ของแม่สื่อพบว่า ไม่ใช่ทุกคนจะไม่อยากมีลูก และมองเห็นแต่ข้อเสียของการมีลูกไปเสียทั้งหมด เพราะโพลก็เป็นเสียงของคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มคนที่อยากมีลูกเพราะเป็นความต้องการ เป็นเป้าหมายที่อยากทำ และมีความสามารถในการเลี้ยงดูก็ไม่เป็นปัญหาค่ะ อย่างสมาชิกจัดหาคู่ของบริษัทจัดหาคู่ Bangkok Matching ส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการเพราะต้องการหาคู่ สร้างครอบครัว แต่งงานมีลูกกันจริงจังกันค่ะ มีเป็นส่วนน้อย ที่แจ้งความประสงค์ว่าเป้าหมายชีวิต ไม่อยากมีบุตร
หากใจคุณพร้อม และคุณเป็นหนึ่งคนที่อยากมีลูก สิ่งที่คุณควรทราบ ประเมิน และวางแผนชีวิตล่วงหน้าของตนเอง ที่แม่สื่ออยากจะขอแนะนำ มีดังนี้ค่ะ
1 ประเมินค่าใช้จ่ายโดยรวมของครอบครัวก่อนค่ะ ว่าคุณและคู่สมรสมีรายได้และเงินเก็บอยู่ที่เท่าไหร่ มีหนี้สินรายจ่ายเท่าไหร่ และมีเหลือมากพอจะเลี้ยงคน 1 คนไหวหรือไม่
2 ประเมินค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คน ลิสต์ออกมาเลยค่ะว่าตั้งแต่การตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอด ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนอย่างไร หากต้องการมีพี่เลี้ยงก็ต้องบวกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เข้าไปด้วยค่ะ
3 วางแผนด้านการศึกษา สำหรับพ่อแม่บางคนต้องการวางแผนการศึกษาให้กับลูกตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นเรื่องที่ดีค่ะเพราะว่าการศึกษาเป็นเหมือนการเลือกสังคมให้กับลูกด้วย ก็บวกค่าใช้จ่าย ค่าเทอม จำนวนปีที่เล่าเรียนเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ที่คุณจะต้องดูแลรับผิดชอบในอนาคต
4 วางแผนการลงทุนและรายได้ เพราะการที่เราคำนวณอนาคตด้วยมุมมองปัจจุบันนั้น เป็นอะไรที่ไม่แน่นอนและมีความเสี่ยง การมองหาลู่ทางการลงทุนระยะยาวเพื่อให้เงินงอกเงย เป็นรายรับแบบ Passive Income จะช่วยคุณได้เยอะในระยะยาวด้วยค่ะ
5 เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ลูกเราจะมีความคิดจิตใจเป็นของตัวเอง เขาอาจจะไม่ได้มองโลกตามเราไปเสียทุกอย่าง และอาจจะไม่ได้ต้องการในสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นการเตรียมตัวพร้อมรับกับบุคลิกและนิสัยใจคอของลูก ก็เป็นอะไรที่คนเป็นพ่อและแม่ต้องเตรียมกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยนะคะ อย่างคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า “เลี้ยงลูกเราเลี้ยงได้แค่ตัว จิตใจเป็นของเขา” คำนี้ใช้ได้จริงเสมอค่ะ
เห็นไหมคะว่าการมีลูกก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญอะไรนัก หากเราเข้าใจและมีความพร้อมที่จะรับมือกับการเลี้ยงดูคน ๆ หนึ่งให้เติบโตมาในสังคมอย่างมีคุณภาพ แต่ว่าการที่คนเราไม่อยากมีลูกเพราะมองว่าเป็นการเพิ่มบ่วงเข้ามารัดตัวเอง เพราะว่าเขาไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ นั้นก็ไม่ผิด อยู่ที่มุมมองของตัวเราเองค่ะ ว่าเราสะดวกแบบไหนค่ะ